พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจรเข้พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจรเข้ จักรพรรดิ์แห่ง พระปิดตาเนื้อเมฆพัตรในบรรดา พระปิดตาเนื้อเมฆพัตร ด้วยกันแล้ว แต่ไหนแต่ไรมาบรรดานักเลงพระเขายกให้ พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ เป็นสุดยอดอันดับหนึ่งของพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรด้วยกันทั้งหมด หรืออาจเรียกว่า "เป็นจักรพรรดิ์ของพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรทุกวัด ทุกสำนัก" พระปิดตาของหลวงปู่นาคมีหลายพิมพ์ แต่พิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ พิมพ์ท้องแฟบ(พิมพ์หูกระต่าย) และ พิมพ์ท้องป่อง (พิมพ์สะดือจุ่น) ส่วนพุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่นาค มีประสบการณ์เยี่ยมยอดด้านคงกระพันกับมหาอุตเป็นที่สุด ส่วนทางเมตตามหานิยมกับโชคลาภนั้นรองลงมา ‘เนื้อเมฆพัด’ หรือเขียน ‘เมฆพัตร’ ก็ได้ เป็นโลหะพิเศษ อันเกิดจากพระเกจิอาจารย์โบราณ ที่ได้ร่ำเรียนทางพุทธคุณชั้นสูง และจัดทำขึ้นตามตำรับโบราณ ถือว่าเป็นแร่วิเศษเกิดจากอาคมชั้นสูง มีสีดำแวววาว ลักษณะเปราะ มีส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง ขณะหลอมจะซัดด้วยกำมะถัน ปรอท และว่านยาต่างๆ ได้แก่ ไพลดำ ต้นหิงหาย ไม้โมกผา ขิงดำ กระชายดำ สบู่แดง และ สบู่เลือด เป็นต้น ซัดเข้าไปในเบ้าหลอม พอสำเร็จจะได้โลหะสีดำเป็นมันเงาเลื่อมพราย สำหรับชาติภูมิของหลวงปู่นาค ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2358 (ร.ศ.35) ตรงกับปีกุน จ.ศ.1177 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับ พ.ศ.2379 พระอุปัชฌาจารย์ไม่ปรากฏนาม ทราบเพียงพระกรรมวาจาจารย์ คือ พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระปฐมเจติยานุรักษ์ (หลวงปู่กล่ำ) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้รับฉายา "โชติโก" และเป็นผู้สร้างวัดห้วยจระเข้ร่วมกับประชาชน หลวงปู่นาคปกครองวัดนาน 11 ปี จนถึงกาลละสังขารเมื่อ พ.ศ.2453 ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 95 ปี 74 พรรษา หลวงปู่นาค เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเนื้อเมฆพัดมาก การผสมเนื้อแร่ต่างๆ การปั้นพิมพ์ และการเทหล่อองค์พระ ท่านทำด้วยตัวท่านเอง องค์พระที่ท่านหล่อออกมาสวยงาม เนื้อพระเป็นสีดำอมเขียว สีดำเงา สวยงามพิสดาร เนื้อพระผิวตึง รูปทรงสมบูรณ์แบบ ท่านสร้างพระปิดตามหาอุด เนื้อเมฆพัด เมื่อ พ.ศ.2432 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เอกลักษณ์ของพระปิดตาห้วยจระเข้ นอกจากจะดูพิมพ์เป็นหลักแล้ว จะต้องมีการลงเหล็กจาร ทุกองค์ด้วย และในการลงเหล็กจารนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคท่านนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้ว ไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างๆ วัด โดยท่านจะดำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จ ก็จะปล่อยให้พระลอยขึ้นมาเหนือน้ำเองโดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ ถ้าพระปิดตาองค์ไหนลงจารแล้วไม่ลอยขึ้นมา แสดงว่าพระปิดตาองค์นั้นไม่มีพลังพุทธคุณ จากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง ทำให้ “พระปิดตาวัดห้วยจระเข้” เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งปวง พระปิดตาเนื้อเมฆพัด มีการสร้างหลายวัด และมีการจัดเข้าเป็นชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อเมฆพัด เหมือนกัน ได้แก่ 1.พระปิดตาหลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม 2.พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.ราชบุรี 3.พระปิดตาหลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี 4.พระปิดตาหลวงปู่ทิม วัดบางปลา จ.นครปฐม และ 5.พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม เบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ ของวงการพระเครื่อง ประกอบด้วย ๑. พระปิดตา วัดท้ายย่าน จ.ชัยนาท ๒.พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม ๓.พระปิดตาแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน วัดโมฬี จ.นนทบุรี ๔. พระปิดตาหลวงปู่ทับ วัดทอง ธนบุรี และ ๕.พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
|