พระปิดตา กรุวัดชนะสงคราม เนื้อดินดิบคลุกรัก ผสมดินปืนพระปิดตา กรุวัดชนะสงคราม เนื้อดินดิบคลุกรัก ผสมดินปืน เมื่อปี พ.ศ. 2495 คณะกรรมการ วัดชนะสงคราม ได้มีมติให้สร้าง “โรงเรียนประชาบาล” ในที่ดินของ “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นสถานการศึกษาของเยาวชนในละแวกนั้นและใกล้ไกล ซึ่ง ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (นิยม) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ก็มีเมตตากำหนดให้จัดที่ดินภายในวัดสร้างโรงเรียนตรงบริเวณใกล้หมู่ พระเจดีย์ที่ชำรุดหักพัง ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำการรื้อสิ่งกีดขวางบริเวณดังกล่าวออก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจดีย์และส่วนมากชำรุดปรักหักพังไม่เหมาะที่จะทำการบูรณะ จากการรื้อเจดีย์นี้เองปรากฏว่า ได้พบ “พระเครื่องเนื้อดินดิบ” จากฐานพระเจดีย์เป็นจำนวนมากและมีด้วยกันหลายพิมพ์ ชาวบ้านที่รู้ข่าวได้เฮโลกันไปหยิบฉวยเอาตามใจชอบ ท่านเจ้าอาวาสวัด ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (นิยม) จึงต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปเก็บรวบรวมไว้แล้วทำการคัดเลือกแยกประเภท ก่อนนำไปให้ประชาชนที่สนใจบูชาองค์ละ 10 บาท เพื่อนำรายได้ไปสมทบสร้างโรงเรียนพร้อมบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ ภายในวัด ซึ่งมีชาวบ้านที่รู้ข่าวมาเช่าบูชากันอย่างพอสมควร ต่อมาท่านเจ้าอาวาสได้นำพระที่เหลือจากการเช่าบูชาไป สุมไฟเผาให้สุก ทั้งนี้ เพราะพระที่ขึ้นจากกรุใหม่ ๆ ส่วนมากจะชำรุดเนื่องจากความชื้นภายในกรุทำให้พระที่เป็น “เนื้อดินดิบ” (ไม่ได้เผา) เพียงแค่นำไปตากแห้งเท่านั้นเกิดความยุ่ยหักบิ่นได้ง่าย และจากการนำไปสุมไฟนี้เองจึงทำให้พระกรุนี้มีหลายสีเช่น “ดำ, เทา, น้ำตาล, แดง” แต่ถึงกระนั้นแม้ว่า พระที่พบจะบิ่นหรือกะเทาะอย่างไร ความคมชัดของลวดลายและเส้นสายต่าง ๆ ยังมีรายละเอียดของความคมชัดและพลิ้วไหวปรากฏให้เห็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้ง ตัวยันต์ลายเครือเถา, กิ่งโพธิ์หรือบัลลังก์ ก็ดูอ่อนช้อยงดงาม ส่วนทางด้านพิมพ์ทรงนั้นมีหลายพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็น “พิมพ์เล็บมือ” ที่มีทั้ง “พิมพ์ปิดตา” และ “พิมพ์สมาธิ” ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นคือ องค์พระนั่งอยู่บนรัตนบัลลังก์ ด้านข้างองค์พระจะเป็น “ลายเครือเถา” บ่งบอกถึงยุคสมัยของ รัตนโกสินทร์ อย่างชัดเจนแม้ในการพบพระครั้งนั้นไม่ได้ปรากฏจารึกหลักฐานการสร้าง แต่เมื่อพิจารณาพิมพ์ทรงโดยทั่วไปแล้วคนรุ่นเก่าให้ทรรศนะไว้ว่า เป็นภาพจำลองพระประธานในอุโบสถคือ “หลวงพ่อปู่” พร้อมมีความเห็นว่า “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นผู้บูรณะวัดหลังจากเสร็จศึก “สงครามเก้าทัพ” ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นการสร้างกุศล ชดเชยกับการที่ได้ทรงกระทำศึกพร้อมกับทำลายชีวิตข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก เป็นผู้สร้างพระกรุนี้ไว้ ซึ่งแต่เดิมวัดชนะสงครามนี้มีชื่อเดิมว่า “วัดตองปุ”(วัดที่พระชาวมอญพำนักอยู่) ครั้นเมื่อชนะศึกบ้านเมืองสงบสุขพร้อมทรงสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีแล้ว “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” จึงทรงจัดงานฉลองและพระราชทานนามวัดตองปุเสียใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” อันหมายถึงเป็นการ เฉลิมฉลองการชนะศึกเก้าทัพนั่นเอง ปัจจุบัน “พระกรุวัดชนะสงคราม” “พิมพ์ปิดตา” จะได้รับความนิยมมากกว่าพิมพ์อื่นและพระกรุนี้ การบิ่นหรือหักมุมเล็กน้อย จะถือเป็นเรื่องธรรมดาของพระเนื้อดินดิบทั่ว ๆ ไป แต่ที่โดดเด่นคือประสบการณ์จากผู้นำติดตัวรวมทั้งชื่อพระที่เป็นมงคลคือ “ชนะสงคราม” จึงทำให้นักสะสมนิยมโดยหลาย ๆ เซียนใหญ่ที่มีพระราคาแพง อยู่ในความครอบครอง แต่กลับแขวนคอด้วยพระราคาหลักพันอย่าง “พระกรุวัดชนะสงคราม” ฉะนั้นจึงมิควรมองข้าม เพราะ พุทธศิลป์สวยงาม และมีขนาดพอเหมาะอีกทั้งมีความเป็นมาที่ยาวนานพร้อมมีศิลปะของ ยุค ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชัดเจนเรียกได้ว่า เด่นในคุณค่า เพราะราคายังไม่แพงเกินเอื้อม. |